ประวัติทีวีช่อง 7

สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7

บริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด จัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินการส่งออกอากาศโทรทัศน์สี ร่วมกับกองทัพบกไทย ตามมติและนโยบายของคณะกรรมการควบคุมวิทยุและโทรทัศน์กองทัพบก ในสมัยที่จอมพลประภาส จารุเสถียร ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก โดยใช้มาตรฐานการออกอากาศ ซีซีไออาร์ 625 เส้น ในระบบพาล (PAL) เป็นครั้งแรกของประเทศไทย โดยจดทะเบียนบริษัทเมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2510 ด้วยทุนจดทะเบียน 10,000,000 บาท แบ่งเป็น 1,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 10,000 บาท

บริษัทมีรายชื่อผู้ก่อตั้งประกอบด้วย เรวดี เทียนประภาส, คุณหญิงไสว จารุเสถียร (คำนำหน้าชื่อขณะนั้น; ภรรยาจอมพลประภาส พี่สาวของเรวดี), ร้อยเอกชูศักดิ์ บุณยกะลิน, เฑียร์ กรรณสูต (น้องชายสุชาติ กรรณสูต สามีของเรวดี ซึ่งเสียชีวิตตั้งแต่ พ.ศ. 2501), ชาติเชื้อ กรรณสูต (บุตรชายคนโต), ร้อยโทชายชาญ กรรณสูต (ยศขณะนั้น; บุตรชายคนที่สอง เปลี่ยนมาใช้นามสกุลฝ่ายแม่ เมื่อ พ.ศ. 2517) และสุรางค์ เปรมปรีดิ์ (บุตรสาวคนเล็ก) ซึ่งบริษัทมอบหมายให้ สมภพ ศรีสมวงศ์ (ปัจจุบันชื่อสหสมภพ) เป็นผู้ยื่นขอจดทะเบียนบริคณห์สนธิ กับกรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ โดยมีการเรียกประชุมผู้ถือหุ้นครั้งแรก เมื่อวันที่ 22 กันยายน ซึ่งมีมติแต่งตั้งให้ คุณหญิงไสวเป็นประธานกรรมการบริษัท ถือหุ้นจำนวน 100 หุ้น, ชวน รัตนรักษ์ ผู้บริหารธนาคารกรุงศรีอยุธยา เป็นรองประธานกรรมการ ถือ 50 หุ้น, เรวดีเป็นกรรมการผู้จัดการ ถือ 230 หุ้น, เฑียร์เป็นกรรมการบริษัท ถือ 100 หุ้น, ชาติเชื้อเป็นกรรมการบริษัท ถือ 100 หุ้น, ร้อยเอกชูศักดิ์เป็นกรรมการบริษัท ถือ 20 หุ้น และ ร้อยโทชายชาญเป็นกรรมการบริษัท ถือ 100 หุ้น อนึ่ง ในปีถัดมา (พ.ศ. 2511) ผู้ถือหุ้นมีมติให้เฑียร์ ลาออกจากการเป็นกรรมการบริษัท หัวหน้าฝ่ายรายการ และหัวหน้าฝ่ายเทคนิค โดยแต่งตั้งให้สุรางค์ เปรมปรีดิ์ เข้าเป็นกรรมการแทน พร้อมถือ 80 หุ้น

บริษัทเริ่มดำเนินกิจการเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน โดยเตรียมการเพื่อทดลองถ่ายทอดสดการประกวดนางสาวไทย ซึ่งจัดขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของงานวชิราวุธานุสรณ์ จากพระราชวังสราญรมย์ ในวันที่ 27 พฤศจิกายน โดยใช้ชื่อว่า “สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7” จากนั้น จึงเปิดสถานีออกอากาศอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม โดยในปีถัดมา (พ.ศ. 2511) บริษัททำสัญญามอบเครื่องส่งโทรทัศน์สี กำลังออกอากาศ 500 วัตต์ ให้แก่กองทัพบกไทย พร้อมทั้งทำสัญญาเช่า เพื่อดำเนินการบริหารสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 โดยในช่วงแรกของการดำเนินงานนั้น ใช้ห้องส่งร่วมกับสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกไปพลางก่อน และนำรถประจำทางเก่าสามคัน ซึ่งรื้อที่นั่งออกทั้งหมด เป็นที่ติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ

ในปี พ.ศ. 2513 บริษัทย้ายเข้าใช้อาคารที่ทำการถาวร บริเวณหลังสถานีขนส่งสายเหนือ (หมอชิต) แห่งเก่า (ปัจจุบันคืออาคารศูนย์ซ่อมรถไฟฟ้าบีทีเอส และลานจอดรถสำหรับผู้ใช้บริการรถไฟฟ้ามหานคร บริเวณสถานีสวนจตุจักร) โดยเมื่อวันที่ 30 มกราคม ปีเดียวกัน เรวดีและร้อยเอกชูศักดิ์ เสียชีวิตเนื่องจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ ผู้ถือหุ้นมีมติแต่งตั้งให้ชาติเชื้อ รักษาการในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ จนถึงวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2516 ชาติเชื้อก็ขอลาออก ผู้ถือหุ้นจึงมีมติให้ร้อยเอกชายชาญ เข้ารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ แล้วแต่งตั้งให้ ดร.ไพโรจน์ เปรมปรีดิ์ สามีของสุรางค์ ที่มีอยู่ 20 หุ้น เป็นกรรมการบริษัท และในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2517 ท่านผู้หญิงไสว ขอลาออกจากกรรมการบริษัท ชวนจึงขยับขึ้นเป็นประธานกรรมการแทน และให้ ร้อยเอกหญิงสุมิตรา จารุเสถียร บุตรสาวท่านผู้หญิงไสว ดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการที่ว่าง

ในปี พ.ศ. 2521 สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 เช่าช่องสัญญาณดาวเทียมปาลาปาของอินโดนีเซีย เพื่อถ่ายทอดสัญญาณจากกรุงเทพมหานคร ไปสู่สถานีเครือข่ายของทุกภูมิภาค เป็นสถานีแรกของประเทศไทย นอกจากนี้ ยังเช่าสัญญาณดาวเทียมนานาชาติ (อินเทลแซท) ถ่ายทอดเหตุการณ์จากทั่วโลกมายังไทย ในเวลาใกล้เคียงกัน ก็ได้ริเริ่มใช้รถถ่ายทอดสัญญาณดาวเทียม ใช้ย่านความถี่สูง (เคยู-แบนด์) และ รถถ่ายทอดนอกสถานที่ (โอ.บี.) ใช้ย่านความถี่ ซี-แบนด์ ทำหน้าที่เป็นสถานีแม่ข่ายชั่วคราว ถ่ายทอดสดงานประเพณีที่น่าสนใจ กีฬานัดสำคัญ และเหตุการณ์ในท้องที่ต่างๆ ทั่วประเทศ

ผลงานสำคัญในหน้าที่กรรมการผู้จัดการ ซึ่งเป็นผู้อำนวยการสถานีโดยตำแหน่ง ของชายชาญคือ การขยายสถานีส่งสัญญาณช่อง 7 สีออกไปสู่ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ที่จำเป็นต้องใช้งบประมาณมากกว่า 300 ล้านบาท ดังนั้น เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2522 บริษัทจึงต้องเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 50 ล้านบาท โดยส่วนหนึ่งใช้วิธีขายหุ้นเพิ่มทุน ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิม ในอัตรา 1 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นใหม่ เป็นจำนวน 10 ล้านบาท อีกส่วนหนึ่ง ให้ประธานกรรมการ (ชวน รัตนรักษ์) และกรรมการผู้จัดการ เป็นผู้ดำเนินการตามที่เห็นสมควร เป็นจำนวน 30 ล้านบาท และให้ลดมูลค่าต่อหุ้นลงเหลือ 100 บาท เมื่อรวมกับการเพิ่มทุนจดทะเบียนอีกครั้ง เป็นจำนวน 61 ล้านบาท เมื่อปี พ.ศ. 2527 แล้ว จึงทำให้สกุลรัตนรักษ์ กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท แทนกลุ่มสกุลจารุเสถียร กรรณสูต และเทียนประภาส ในที่สุด

พันโทชายชาญ ถูกคนร้ายใช้อาวุธปืน 11 มิลลิเมตร ยิงจนเสียชีวิตที่จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2523 ส่งผลให้ตำแหน่งกรรมการผู้จัดการว่างลง ผู้ถือหุ้นมีมติให้จัดตั้ง คณะกรรมการผู้จัดการขึ้นชุดหนึ่ง เพื่อร่วมกันปฏิบัติหน้าที่ ในความรับผิดชอบของกรรมการผู้จัดการ โดยมี ดร.ไพโรจน์ เป็นประธานคณะกรรมการชุดดังกล่าว และมีกรรมการคือ พิสุทธิ์ ตู้จินดา, สมภพ ศรีสมวงศ์, ร้อยเอกสุพจน์ แสงสายัณห์, ชัชฎาภรณ์ รักษนาเวศ (อดีตนักร้องชื่อดัง ผู้เป็นภรรยาที่มิได้จดทะเบียนสมรสของ พันโทชายชาญ) และวีระพันธ์ ทีปสุวรรณ ซึ่งเป็นบุคคลในสายของสกุลรัตนรักษ์ และเข้ามารับตำแหน่งกรรมการบริษัทที่ว่างลงด้วย แต่ต่อมาไม่นาน ระบบคณะกรรมการผู้จัดการก็ยกเลิกไป โดยผู้ถือหุ้นแต่งตั้งให้ ดร.ไพโรจน์ เป็นกรรมการผู้จัดการอย่างเต็มตัว

จากนั้นใน พ.ศ. 2524 ชาติเชื้อกลับเข้ารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการอีกครั้ง พร้อมทั้งให้สุรางค์ น้องสาวเข้ามาช่วยงานด้วย ซึ่งเป็นผลให้ช่อง 7 สีประสบความสำเร็จอย่างสูงในระยะต่อมา และเมื่อวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2536 ชวนก็เสียชีวิตลง โดยมีกฤตย์ รัตนรักษ์ ผู้เป็นบุตรชาย ซึ่งเป็นกรรมการบริษัทมาตั้งแต่ พ.ศ. 2513 เข้าดำรงตำแหน่งแทนบิดา อนึ่ง ชาติเชื้อล้มป่วยด้วยอาการอัมพาต จนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่มาหลายปี ในที่สุดเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2541 สุรางค์จึงต้องรับตำแหน่งแทนพี่ชาย โดยที่ยังเป็นผู้จัดการฝ่ายข่าว (2541-2545) และผู้จัดการฝ่ายรายการ (2524-2551) อยู่ด้วย จนถึงวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2554 กฤตย์ลงนามในคำสั่งบริษัท ให้สุรางค์พ้นจากการเป็นกรรมการผู้จัดการ โดยให้ส่งมอบงานแก่ศรัณย์ วิรุตมวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ ภายในวันที่ 30 ธันวาคม และให้ศรัณย์เริ่มเข้ารักษาการกรรมการผู้จัดการ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2555